รีวิวซีรีส์เกมคลาสสิคในตำนาน Eador

Eador เป็นหนึ่งในซีรีส์เกมที่ได้ชื่อว่าเป็น cult classic แม้เกมจะไม่ประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์มากนัก แต่ด้วยการออกแบบที่ล้ำลึกและมีเอกลักษณ์ Eador เลยเป็นที่จดจำในหมู่ผู้เล่นที่ชื่นชอบแนววางแผนและการบริหารจัดการทรัพยากร ตัวเกมได้รับการพัฒนาโดย Alexey Bokulev และเปิดตัวครั้งแรกในปี 2009 ด้วยชื่อ Eador: Genesis

โดยในภายหลัง เกมก็ได้ถูกอัพเกรดกราฟิกและปล่อยในชื่อ Eador: Master of The Broken World ก่อนจะพัฒนาต่อเป็น Eador: Imperium ที่ถึงแม้จะเป็นภาคใหม่ล่าสุดแต่ก็มักจะมีบัคและปัญหาต่าง ๆ จนไม่เป็นที่ชื่นชมเท่ากับสองภาคแรก

นอกจากนั้นแล้วยังมีเวอร์ชันที่แฟนคลับช่วยกันดูแลปรับปรุงและปล่อยให้เล่นฟรีอย่างโปรเจค New Horizons ที่จะอิงจากภาคแรกเป็นหลักแต่มีเนื้อหาใหม่ ๆ และการปรับสมดุลโดยแฟนเกมอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

เกม

แนวคิดของเกม

Eador เป็นเกมแนววางแผนแบบเทิร์นเบส (Turn-Based Strategy) ผสมผสานกับการบริหารอาณาจักรและการต่อสู้ทางยุทธวิธี ผู้เล่นจะได้รับบทเป็น “มาสเตอร์” ผู้ซึ่งพยายามครอบครอง ชิ้นส่วนของโลกที่แตกสลาย โดยโลกเหล่านี้จะมีพื้นที่เล็ก ๆ หลายส่วนที่เชื่อมโยงกัน โดยผู้เล่นต้องเข้าไปยึดครองพื้นที่ใหม่ ต่อสู้กับฝ่ายศัตรู สร้างกองทัพ และพัฒนาอาณาจักรของตนเองให้ยืนหยัดท่ามกลางการโจมตีของศัตรูให้ได้

เกม

ระบบการเล่น

หนึ่งในจุดเด่นของ Eador คือการผสมผสานระหว่างการบริหารจัดการอาณาจักรและการต่อสู้ที่ซับซ้อน ผู้เล่นต้องสร้างสิ่งปลูกสร้าง อัปเกรดเมือง เก็บภาษี และบริหารทรัพยากรเพื่อพัฒนากองทัพและขยายอาณาเขต ในขณะเดียวกัน การต่อสู้ในสนามรบเป็นแบบเทิร์นเบส ผู้เล่นจะต้องใช้กลยุทธ์ในการเลือกหน่วยทหาร จัดวางตำแหน่ง และใช้ความสามารถพิเศษของตัวละครให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ผู้เล่นต้องคำนึงถึงผลระยะยาวในการพัฒนาอาณาจักร การลงทุนในการสร้างสิ่งปลูกสร้างที่เหมาะสม การร่ายเวทมนตร์ที่จะต้องมานาคริสตัลที่มีอย่างจำกัดและการตัดสินใจว่าเมื่อใดควรเสี่ยงในการยึดครองดินแดนใหม่ ทุกการตัดสินใจมีผลกระทบในอนาคต ซึ่งทำให้การเล่นเกมนี้เต็มไปด้วยความลุ้นระทึกและตื่นเต้น

เกม

เอกลักษณ์ของเกม

Eador มีชื่อเสียงในด้านความยากของเกม แม้แต่ผู้เล่นที่มีประสบการณ์ในเกมแนววางแผนยังต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจระบบการเล่นและวิธีการเอาชนะศัตรู การต่อสู้กับฝ่าย AI ในเกมนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ AI ในเกมนี้จะมีความฉลาดในการใช้ทหารของตัวเองและสามารถบริหารอาณาจักรของตัวเองได้เป็นอย่างดี การพัฒนากองทัพที่เหมาะสมและการวางกลยุทธ์เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำอย่างรอบคอบเพื่อที่จะตามทันกับศัตรู

นอกจากนี้ เกมยังมีระบบ karma ซึ่งส่งผลตามการกระทำของผู้เล่น เช่น การปกครองประชาชนอย่างโหดเหี้ยมอาจทำให้เกิดการกบฏ ขณะที่การปกครองอย่างยุติธรรมก็อาจทำให้ผู้เล่นได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มต่าง ๆ ในเกม แต่ไม่ใช่ว่าการเป็นคนชั่วจะมีแต่โทษเมื่อกองทัพปีศาจมาขอสวามิภักดิ์กับเราแล้วทำไมผู้เล่นต้องใส่ใจเสียงร้องของประชาชนกันล่ะ? Eador ให้อิสระผู้เล่นในการเลือกเดินทางแห่งความดีและชั่วอย่างเท่าเทียมกัน

กราฟิกและเสียง

แม้ว่า Eador จะมีกราฟิกที่เรียบง่ายเมื่อเปรียบเทียบกับเกมรุ่นใหม่ ๆ แต่สไตล์พิกเซลอาร์ตของมันกลับสร้างเสน่ห์เฉพาะตัว การออกแบบโลกและตัวละครในเกมยังคงมีรายละเอียดที่น่าประทับใจในแบบของมัน ส่วนดนตรีประกอบของเกมมีความลงตัวกับบรรยากาศ ช่วยสร้างความรู้สึกที่ลึกซึ้งและความตื่นเต้นให้กับการเล่นเกมได้เป็นอย่างดี


Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

four + one =