นาก

เลี้ยงนาก (Otter) ได้หรือเปล่า?

เมื่อพูดถึงสัตว์ที่มีความน่ารักจนหลายคนอยากจะเลี้ยง ตัวนาก หรือ Otter ก็จะเป็นหนึ่งในสัตว์ที่คนหลายคนใฝ่ฝัน ด้วยรูปร่างที่เล็ก ขนหนามันดูน่ากอดและพฤติกรรมที่ดูเหมือนจะเป็นมิตร ซุกซน ชอบร้องโวยวายเสียงใสและขี้เล่น

แต่ถึงอย่างนั้นในประเทศไทยนากก็ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงตามกฎหมายและเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่ห้ามครอบครอง ล่า หรือค้าขาย โดยในบทความนี้จะมาอธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับตัวนากในไทยให้ได้ฟังกัน

นาก

ตัวนากในประเทศไทย

นากในประเทศไทยมีทั้งหมด 4 ชนิด คือ นากเล็กเล็บสั้น นากใหญ่ขนเรียบ นากใหญ่จมูกขนและนากใหญ่ธรรมดา ซึ่งทุกชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 การลักลอบเลี้ยงหรือนำมาค้าขายถือเป็นความผิดร้ายแรง โทษของการกระทำผิดเกี่ยวกับการครอบครองเลี้ยงนากจะอยู่ที่ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาทและโทษในการค้านากจะอยู่ที่ จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท

นาก

อุปสรรคของการเลี้ยงนาก

แม้ว่านากจะดูเหมือนสัตว์เลี้ยงที่น่ารัก แต่การเลี้ยงนากนั้นไม่ง่ายเลย เนื่องจากนากเป็นสัตว์ที่มีนิสัยซุกซนและพลังงานสูง หากเลี้ยงในบ้านจะต้องใช้พื้นที่กว้างขวางและควรมีแหล่งน้ำสำหรับว่ายเล่น นากยังมีระบบเผาผลาญที่ทำงานสูงจึงมักจะหิวบ่อย อีกทั้งนากยังมีกลิ่นตัวที่แรงและการขับถ่ายที่มีกลิ่นแรงการรักษาทำความสะอาดและการฝึกการขับถ่ายให้ดีจึงสำคัญมากและมักจะต้องใช้ความใส่ใจมากกว่าที่คนเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่จะสามารถทำได้ ทำให้การเลี้ยงนากในบ้านมีความท้าทายมากกว่าการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงทั่วไปอย่างสุนัขหรือแมว มากไปกว่านั้นนากยังมีพฤติกรรมการเล่นที่รุนแรง ชอบกัดหรือเหวี่ยงตัวไปมาขณะกัด ซึ่งหากไม่ได้เลี้ยงและฝึกมาแต่เด็กก็มักจะควบคุมนิสัยนี้ของตัวนากได้ไม่อยู่จนอาจเกิดการบาดเจ็บได้

นาก

ผลกระทบจากการเลี้ยงนากเป็นสัตว์เลี้ยง

ความนิยมในการเลี้ยงนากในปัจจุบันทำให้เกิดการลักลอบค้าสัตว์ป่าทั้งในประเทศไทยและประเทศโดยรอบด้วย นากหลายตัวถูกนำออกจากแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ส่งผลต่อการลดจำนวนประชากรของนากในธรรมชาติและทำให้ระบบนิเวศที่พวกมันมีบทบาทสำคัญเกิดความเสียหายและสร้างความเครียดให้กับตัวนากที่ถูกพัดพรากจากบ้านเกิดไปอย่างมาก

ข้อแนะนำสำหรับคนรักนาก

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบนากแต่พบแล้วว่าตัวเองไม่สามารถเลี้ยงนากได้ ก็ไม่เป็นไรเพราะเรายังสามารมีส่วนช่วยอนุรักษ์ตัวนากในแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติแทนการพยายามเลี้ยงในบ้านได้ โดยสามารถสนับสนุนการทำงานขององค์กรที่อนุรักษ์สัตว์ป่า เช่น การบริจาคหรือร่วมกิจกรรมการอนุรักษ์ เพื่อให้ธรรมชาติยังคงเป็นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับสัตว์เหล่านี้ต่อไปและยังสามารถไปพบเจอกับตัวนากตามสวนสัตว์ได้อยู่ หรือแม้แต่ในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติก็ยังสามารถเจอนากในธรรมชาติได้เช่นกันด้วย


Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

four × five =