โรคผิวหนังเป็นปัญหาสุขภาพที่ทำให้สุนัขของเราสูญเสียความสวยงาม และหนึ่งในโรคที่พบบ่อยคือ ไรขี้เรื้อนซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สุนัขขนร่วง ผิวหนังแดงและเกิดอาการคันอย่างรุนแรง โดยโรคนี้จะมี 2 ประเภทหลัก ได้แก่ ไรขี้เรื้อนแห้งและไรขี้เรื้อนเปียก โดยจะมีสาเหตุและวิธีการรักษาที่แตกต่างกันไป ดังนี้
โรคไรขี้เรื้อนแห้ง
โรคไรขี้เรื้อนแห้งเกิดจากไรขี้เรื้อนซาร์คอพเตส (Sarcoptes spp.) สุนัขที่ติดเชื้อจะมีอาการคันมาก ทำให้เกิดการเกาผิวหนังอย่างรุนแรง ส่งผลให้ขนร่วงและผิวหนังอักเสบ ลักษณะผิวจะหนาและแห้งคล้ายหนังช้าง พบบ่อยในบริเวณขอบใบหู ใต้ท้อง ข้อศอกและข้อเท้าของขาหลัง
การตรวจโรคนี้จะทำด้วยการขูดตรวจผิวหนังระดับตื้น ๆ เพื่อหา ไรขี้เรื้อนซาร์คอพเตส หรือใช้วิธีการทดสอบ pinna-pedal reflex โดยการบีบปลายหูของสุนัข หากสุนัขยกขาข้างเดียวกับหูที่ถูกบีบขึ้นมาเกา ก็มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคนี้
โรคไรขี้เรื้อนแห้งสามารถติดต่อได้ทั้งคนและสัตว์อื่น ๆ ดังนั้นหากตรวจพบว่าสุนัขมีการติดเชื้อก็ควรแยกเลี้ยงไว้เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อจะดีกว่า
โรคไรขี้เรื้อนเปียกหรือไรขี้เรื้อนขุมขน
โรคไรขี้เรื้อนเปียกหรือไรขี้เรื้อนขุมขน เกิดจากไรขี้เรื้อนดีโมเด็กซ์ (Demodex spp.) ไรชนิดนี้อาศัยอยู่ในรูขุมขนของสุนัข โดยปกติจะไม่ก่อให้เกิดโรค แต่ถ้าสุนัขมีภูมิคุ้มกันต่ำหรือมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอ จะทำให้ไรขี้เรื้อนเจริญเติบโตมากเกินไปและก่อให้เกิดโรคผิวหนัง
อาการของโรคนี้คือขนร่วง ผิวหนังเยิ้มแฉะ มีกลิ่นตัวแรงและอักเสบรุนแรง โดยเฉพาะในบริเวณเท้า หน้า และรอบดวงตา โรคนี้จะไม่ทำให้สุนัขคัน ยกเว้นว่ามีการติดเชื้ออื่น ๆ เช่นแบคทีเรียหรือเชื้อยีสต์แทรกซ้อน การตรวจวินิจฉัยจะใช้วิธีขูดตรวจผิวหนังชั้นลึก ซึ่งอาจทำให้มีเลือดไหลบ้าง แต่ไม่เป็นอันตราย
การรักษาโรคไรขี้เรื้อน
การรักษาโรคไรขี้เรื้อนทั้งสองประเภทสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ การฉีดยาฆ่าไรขี้เรื้อน การใช้ยาหยดหลัง การอาบน้ำด้วยแชมพูยาหรือการใช้ยาฆ่าไรเฉพาะที่ ในปัจจุบันยังมีการผลิตยาฆ่าไรแบบกินด้วย
วิธีการรักษาที่เลือกใช้จะขึ้นอยู่กับบริเวณที่ติดเชื้อ จำนวน ตำแหน่งที่เป็นและความรุนแรงของโรค ดังนั้นควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับสุนัขของเรา
การป้องกันและการดูแล
การป้องกันไรขี้เรื้อนสามารถทำได้โดยการดูแลสุขอนามัยของสุนัข อาบน้ำให้สะอาดเป็นประจำและรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นตรวจสอบผิวหนังของสุนัขเป็นระยะ หากพบอาการคัน ขนร่วงหรือผิวหนังอักเสบ ควรพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์ทันที เพื่อรับการตรวจและรักษาให้ทันเวลา
Leave a Reply