โรคไข้หวัดแมว ภัยร้ายที่ทาสควรรู้

โรคไข้หวัดแมว (Cat Flu) เป็นหนึ่งในโรคที่พบได้บ่อยในแมวโดยเฉพาะในช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยอย่างเช่น ฝนตกหรือแดดออก ร่างกายของแมวก็จะมีโอกาสอ่อนแอและเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากขึ้น เช่นเดียวกับมนุษย์ การพาแมวออกไปเจอสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ หรืออยู่ในพื้นที่ที่แมวหลายตัวอยู่ร่วมกัน ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อหวัดเพิ่มได้

แมว

เชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคไข้หวัดแมว

โรคไข้หวัดแมวเกิดจากการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจของแมว โดยมีเชื้อไวรัสหลักที่ทำให้เกิดโรค เช่น Feline herpes virus (FHV-1) และ Feline calicivirus (FCV) นอกจากนี้ ยังมีแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุเพิ่มเติม เช่น Chlamydia spp Bordetella bronchiseptica และ Mycoplasma spp ซึ่งเชื้อเหล่านี้พบได้ทั่วไปในอากาศ ความรุนแรงของโรคจะขึ้นอยู่กับชนิดและสายพันธุ์ของเชื้อที่แมวติดเชื้อ บางสายพันธุ์อาจรุนแรงถึงขั้นทำให้แมวเสียชีวิตได้

การติดต่อของโรคไข้หวัดแมว

โรคไข้หวัดแมวสามารถติดต่อกันได้ง่ายผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำตา น้ำมูก ของแมวที่ติดเชื้อ แมวที่ได้รับเชื้อจะนำเข้าสู่ร่างกายผ่านทางจมูก ปาก หรือตา จากนั้นเชื้อจะเข้าสู่เซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการอักเสบและแสดงอาการของโรค อันตรายยิ่งขึ้นเมื่อแมวอยู่ร่วมกันหลายตัวในพื้นที่เดียวกัน เนื่องจากจะทำให้การแพร่กระจายของเชื้อรวดเร็ว นอกจากนี้ แมวที่เคยป่วยเป็นไข้หวัดแมวและหายแล้ว ก็ยังสามารถเป็นพาหะนำเชื้อได้อีกด้วย

แมว

อาการของโรคไข้หวัดแมว

แมวที่ ติดเชื้อไข้หวัดแมว จะมีอาการคล้ายคลึงกับไข้หวัดในมนุษย์ โดยอาการหลักจะเกิดขึ้นที่ระบบทางเดินหายใจส่วนต้น รวมถึงดวงตาและช่องปาก หลังจากติดเชื้อไวรัส จะมีระยะฟักตัวของโรคประมาณ 2-10 วัน ซึ่งในบางกรณีอาจยาวนานถึง 14 วัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของไวรัส

อาการที่สามารถสังเกตได้ชัดเจน ได้แก่

  • มีไข้ ตัวร้อน
  • ไอ ร้องเสียงแหบ
  • มีน้ำมูกใสหรือข้น
  • น้ำตาไหลมากกว่าปกติ
  • ไม่ค่อยกินอาหาร และกลืนอาหารลำบาก
  • น้ำลายไหล
  • บางรายอาจพบแผลหลุมในช่องปากจากการติดเชื้อ FCV

หากพบอาการดังกล่าว ควรรีบพาแมวไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษา หากไม่รักษา อาการอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

แมว

วิธีการรักษาไข้หวัดแมว

การรักษาโรคไข้หวัดแมวจะเน้นไปที่การรักษาตามอาการ เช่น การประคับประคองสมดุลร่างกาย การแก้ไขภาวะขาดน้ำ รวมถึงการให้ยาละลายเสมหะ และยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อนจากแบคทีเรีย นอกจากนี้ การใช้ Inhalation therapy หรือการดมยาด้วย normal saline ก็อาจช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นแก่เยื่อบุทางเดินหายใจ และลดความข้นของสารคัดหลั่งได้ สัตวแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาในการใช้ยาปฏิชีวนะหรือการรักษาเฉพาะทางตามอาการของแมวแต่ละตัว

 

การป้องกันโรคไข้หวัดแมว

การป้องกันที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดแมว ซึ่งควรเริ่มทำเมื่อแมวอายุประมาณ 8 สัปดาห์ วัคซีนนี้จะช่วยลดความรุนแรงของโรคและป้องกันการระบาดในหมู่แมว โดยเฉพาะในกรณีที่เลี้ยงแมวหลายตัวในพื้นที่จำกัด

การดูแลแมวให้สุขภาพดีนั้นไม่เพียงแต่ต้องใส่ใจเรื่องอาหารและสภาพแวดล้อมเท่านั้น แต่การป้องกันโรคไข้หวัดแมวก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ผู้เลี้ยงควรพาแมวไปพบสัตวแพทย์เป็นประจำ เพื่อตรวจสุขภาพและรับวัคซีนตามกำหนด เพื่อความปลอดภัยของแมวที่เรารัก