โรคพยาธิหนอนหัวใจ ภัยร้ายกับเพื่อนสี่ขาที่ควรระวัง

โรคพยาธิหนอนหัวใจ (Heartworm disease) เป็นโรคที่มีสาเหตุจากพยาธิชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า Dirofilaria immitis ซึ่งเป็นพยาธิชนิดหนอนกลมที่อาศัยอยู่ในหัวใจและหลอดเลือดในปอดของสัตว์ โรคนี้แพร่กระจายผ่านยุงที่กัดสัตว์แล้วถ่ายพยาธิสู่สัตว์ตัวอื่น

โดยโรคนี้จะมีอันตรายและผลกระทบต่อหัวใจและปอดของสัตว์เลี้ยงอย่างมาก แถมยังสามารถส่งผลกระทบต่ออวัยวะอื่น ๆ เช่น ตับ ไต ตา และระบบประสาทส่วนกลางได้ด้วย หากไม่ได้รับการรักษาก็อาจเกิดอาการแทรกซ้อนหลายอย่างและสามารถทำให้เสียชีวิตได้

อาการของโรคพยาธิหนอนหัวใจ

อาการของโรคพยาธิหนอนหัวใจมักจะเกิดขึ้นอย่างเรียบง่ายและยากที่จะสังเกตเห็นในช่วงระยะแรก แต่เมื่อพยาธิหนอนหัวใจเพิ่มจำนวนขึ้น อาการก็จะชัดเจนขึ้น โดยจะเริ่มจากอาการ คัน ซึม เบื่ออาหาร หอบ เหนื่อยง่าย ไอแห้ง เป็นลม บวมน้ำ ท้องแข็ง กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หัวใจล้มเหลว หายใจลำบาก ซึ่งเมื่อสัตว์เลี้ยงมีอาการเช่นนี้ติดต่อกันเกินสองวันก็ควรพามาให้แพทย์ตรวจร่างกายได้แล้ว เนื่องจากหากทิ้งไว้นานความเสียหายต่ออวัยวะภายในอาจเกิดขึ้นอย่างถาวรแล้ว

สัตว์อะไรมีความเสี่ยงบ้าง?

โรคพยาธิหนอนหัวใจพบได้ในทุกภูมิภาคของไทย โดยเฉพาะในบริเวณที่มียุง เช่น พื้นที่ที่ติดป่าเขาและหนองน้ำขัง โดยจะพบได้บ่อยในสุนัขแต่นอกจากสุนัขแล้ว แมวก็สามารถติดเชื้อนี้ได้ เช่นกัน ถึงแม้ว่าครั้งหนึ่งจะมีความเชื่อว่าแมวต้านทานต่อการ ติดเชื้อ แต่การศึกษาล่าสุดพบว่าแมวเองก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกับสุนัขได้เหมือนกัน

การวินิจฉัยโรคพยาธิหนอนหัวใจ

โรคพยาธิหนอนหัวใจสามารถวินิจฉัยได้โดยการตรวจเลือด ซึ่งสามารถทราบผลภายในไม่กี่นาที หากพบสัญญาณของการติดเชื้อ สัตวแพทย์อาจแนะนำให้ทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือดเพิ่มเติม เอ็กซ์เรย์ หรืออัลตราซาวด์หัวใจ เพื่อประเมินระดับความรุนแรงของโรค

สุนัข

วิธีการรักษาโรคพยาธิหนอนหัวใจ

การรักษาโรคพยาธิหนอนหัวใจมีเป้าหมายในการกำจัดพยาธิโดยไม่ทำให้สัตว์ป่วยหนักขึ้นไปอีก โดยการรักษามักประกอบด้วยการฉีดยาและการกักตัวสัตว์เพื่อลดการเคลื่อนไหวเป็นระยะเวลาหลายสัปดาห์ แม้ว่าการรักษาจะมีประสิทธิภาพ แต่มีความเสี่ยงสูงและค่าใช้จ่ายมาก ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

การป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจ

การป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยยาป้องกันที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสัตวแพทย์สามารถสั่งให้ในรูปแบบยากิน ยาทาหรือยาฉีด นอกจากจะช่วยป้องกันพยาธิหนอนหัวใจแล้ว ยาป้องกันเหล่านี้ยังช่วยป้องกันพยาธิภายในชนิดอื่น ๆ ได้ด้วย

นอกเหนือจากการใช้ยาแล้วการควบคุมประชากรของยุงในบริเวณที่อยู่อาศัยก็มีความสำคัญอย่างมากในการป้องกันโรคนี้ได้ไม่แพ้กันด้วย


Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

four − three =